ตลอดปีงบประมาณ 2564 ENTEC ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงความผูกพันของพนักงาน
และความเชื่อมโยงกับสังคม ดังนี้
ENTEC กับการดำเนินงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและธุรกิจของประชาชน ชุมชนและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก การปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้ในระยะเวลาอันสั้นและมีแนวโน้มเกิดการเร่งรัดเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ หรือ “New Normal” ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องวางแผนการรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน (work from home) การประชุมออนไลน์ด้วยโปรแกรม Webex Meetings การเปลี่ยนรูปแบบการยื่นเอกสารในการจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่าย และการลงนามเอกสารราชการด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการทำงานที่บ้าน รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติงานและส่งมอบผลงานได้ตามเป้าหมายในแต่ละสัปดาห์
กิจกรรมเพื่อสังคม
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) ได้ดำเนินงานดังนี้
ENTEC (ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล และทีมวิจัย) ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ดร.ฐนียา รอยตระกูล) ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี (Electrolyzed water) สำหรับใช้ภายในสถานประกอบการด้านสาธารณสุข งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อส่งเสริมและสร้างศักยภาพให้แก่สถานประกอบการด้านสาธารณสุขหรือสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลในการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อได้ด้วยตนเองในช่วงที่สินค้าดังกล่าวขาดแคลน ตลอดจนสามารถควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ทันท่วงที น้ำยาฆ่าเชื้อ (ENERclean) มีองค์ประกอบหลัก คือกรดไฮโปคลอรัส (hypochlorous acid, HOCl) ที่มีค่าความเป็นกรด/เบส (pH) 4-6 และปริมาณคลอรีนมากกว่า 400 ppm สามารถประยุกต์ใช้งานด้านการแพทย์และอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีประสิทธิภาพในการยับยั้งหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวกและแกรมลบ ซึ่งเป็นเชื้อที่มีโอกาสพบได้บ่อยในโรงพยาบาลจากสิ่งส่งตรวจ (ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบไหลเวียนโลหิต) รวมถึงไวรัสไข้เลือดออก (Dengue virus, Japanese encephalitis virus, Zika virus) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2)
สถานภาพ: ในเดือนสิงหาคม พ.ศ .2564 ผลงานวิจัยอยู่ระหว่างเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งมอบนวัตกรรมเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อให้แก่โรงพยาบาลจำนวน 10 แห่ง ในหลายภูมิภาคเช่นภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
ENTEC (ดร.อัศวิน หงษ์สิงห์ทอง และทีมวิจัย) ร่วมมือกับ A-MED สวทช. เป็นที่ปรึกษาการออกแบบและพัฒนาโครงการให้กับบริษัท คอนสตรัคชั่น ไลนส์ จำกัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบห้องกักตัวภาคสนามจากตู้คอนเทนเนอร์สำหรับผู้เดินทางที่ยังไม่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโควิด-19 ตู้คอนเทนเนอร์มีจำนวน 4 ตู้ (8 ห้อง) ได้ส่งมอบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้ที่มีสถานที่กักตัวจำนวนน้อย มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์
การติดตั้งใช้งานที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จังหวัดนราธิวาส
(ดัดแปลงจากตู้คอนเทนเนอร์ ขนย้ายไปติดตั้งหน้างานได้ การออกแบบและพัฒนาตรงตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค มีระบบควบคุม กรองอากาศและระบายอากาศ ระบบระบายน้ำและบำบัดสิ่งปฏิกูล ระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร ระบบเฝ้าระวังติดตามสุขภาพ และปรึกษาแพทย์ทางไกล)
เอ็นเทคกับกิจกรรมใน สวทช.
ENTEC ร่วมจัดกิจกรรม Open House Speed Up Your Business ในหัวข้อ “Reforming Energy มองไปข้างหน้ากับธุรกิจพลังงาน ธุรกิจแห่งอนาคต” ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 (NAC 2021) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 กิจกรรมในงานได้แก่ การสัมมนา นิทรรศการ และกิจกรรมเยี่ยมชม จัดในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้สอดรับกับวิถี New Normal โดยมี ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ เนื้อหาและผู้ร่วมให้ข้อมูล ได้แก่ เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล, เอ็นเทค) เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ (ดร. อมรรัตน์ ลิ้มมณี, เอ็นเทค) เทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง (ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข, เอ็นเทค) เทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ (ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา, ไบโอเทค) และการตรวจสุขภาพมอเตอร์ (คุณวรวิทย์ จันทร์สีหราช, เนคเทค)
ENTEC ร่วมกับ RDI สวทช. จัดกิจกรรมเสวนา เรื่อง มุมมองการขับเคลื่อน BCG สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 (NAC2021) ดำเนินรายการโดย ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุลิ การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน BCG model สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ เป็นประธานการเสวนา และอนุกรรมการฯ หลายท่านซึ่งเป็นประธานสาขาย่อยเข้าร่วมการเสวนาด้วย ได้แก่ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ (หัวข้อ Carbon pricing และ Carbon credits) นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล (หัวข้อ Biorefinery) นายอรรถ เหมวิจิตรพันธ์ (หัวข้อ C-Energy) ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร (หัวข้อ Community Energy) และนายสหรัฐ บุญโพธิภักดี (หัวข้อ Smart Grid & Trading Platform)
เอ็นเทคกับการต้อนรับแขกคนสำคัญ
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. ได้ให้การต้อนรับ พันเอกพิพัฒน นิลแก้ว ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่ทหาร และคณะ จากกรมการอุตสาหกรรมทหาร จำนวน 5 ท่าน ในโอกาสเดินทางมาปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนการดำเนินงานด้านแบตเตอรี่ และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ โดยมี ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน และดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน พร้อมด้วยคณะนักวิจัย สวทช. ร่วมให้การต้อนรับ
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. ได้ให้การต้อนรับคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และคณาจารย์ จำนวน 11 ท่าน ในโอกาสเดินทางมาปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือและเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ โดยมี ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน และดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน พร้อมด้วยคณะนักวิจัย สวทช. ร่วมให้การต้อนรับ ในกิจกรรมนี้มีการแนะนำหน่วยงานและบุคลากรวิจัยของเอ็นเทคและมหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมชม และพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการร่วมมือด้านต่างๆ หลังจากนั้นคณะเยี่ยมชมฯ ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบและประกอบแพ็กแบตเตอรี่ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ และห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง