กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

1,472 Views

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP) พ.ศ. 2558-2579 แผนพัฒนาฯ ดังกล่าวเป็นมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558 ในการตั้งเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 30 ในปี 2579 

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2559 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นทางเลือกโดยดำเนินการให้เกิดการผลิตไบโอดีเซลตามที่ได้ปรับปรุงคุณภาพแล้วในเชิงพาณิชย์ และดำเนินโครงการนำร่องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้ริเริ่มโครงการเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 7 (หรือ B7) เชิงพาณิชย์ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานงบประมาณประจำปี 2560

พพ. มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นที่ปรึกษาโครงการสนับสนุนเพิ่มสัดส่วนน้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น ในการดำเนินงานมีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ ที่มีผู้แทนทั้งจากภาครัฐ สถาบันวิจัยและสมาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการขยายผลเทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซลให้เป็นไปตามเกณฑ์การรับรองของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ตลอดจนการผลิตจริงระดับโรงงานสาธิตในปริมาณกว่าหนึ่งหมื่นลิตรเพื่อผสมในดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 10 (B10) สำหรับการทดสอบในรถกระบะจำนวน 8 คัน แต่ละคันวิ่งทดสอบระยะ 100,000 กิโลเมตร และนำร่องใช้ B10 กว่า 99,000 ลิตร ในยานยนต์หลากหลายประเภทกว่า 158 คัน

ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้คือ ข้อเสนอเชิงเทคนิคสำหรับมาตรฐานไบโอดีเซล B100 ใหม่ที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยอมรับให้ผสมเป็นน้ำมันดีเซลเกรด B10 โดยที่บริษัทผู้ผลิตไบโอดีเซลสามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบสูตรโครงสร้างราคา ต่อมามีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และได้ขยายผลไปยังน้ำมันดีเซล เกรด B20 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 

น้ำมันดีเซลเกรด B10 ได้ถูกประกาศเป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานเมื่อ 1 ตุลาคมพ.ศ. 2563 ภายหลังจากที่ได้รับความมั่นใจจากประชาชน โดยมีน้ำมันดีเซลเกรด B7 และ เกรด B20 เป็นทางเลือก การเพิ่มสัดส่วนจาก B7 เป็น B10 ทำให้เพิ่มอุปสงค์ถึงร้อยละ 43 ซึ่งเป็นการรองรับอุปทานผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำมันปาล์มที่เหลือเกินจากการบริโภค ตลอดจนลดการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อมาผลิตเป็นดีเซล

ในประเด็นอนาคตของไบโอดีเซล กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานมีความเห็นว่าแนวโน้มเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาในประเทศ จะส่งผลกระทบโดยตรงกับอุปสงค์เชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งเป็นส่วนผสมอยู่ในน้ำมันฟอสซิลสำหรับรถยนต์ ทั้งนี้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี สามารถใช้แนวทางในการลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไบโอดีเซล ดังนี้

1) การรักษาสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ประเทศไทยจะมีการบังคับใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ที่มีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำกว่า 10 ppm และปริมาณโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon: PAH) ไม่เกินร้อยละ 8 เพื่อรองรับระบบบำบัดไอเสียยูโร 5 แต่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) บริษัทรถยนต์ทั่วไปยังยอมรับการใช้งานสัดส่วนไบโอดีเซลไม่เกิน B7 สำหรับรถยนต์มาตรฐานไอเสียยูโร 5 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหาแนวทางและสร้างความเชื่อมั่นในการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาปัจจุบันหรือ B10 กับรถยนต์มาตรฐานไอเสีย ยูโร 5 อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะช่วยรักษาอุปสงค์น้ำมันปาล์มในรถยนต์สันดาปภายใน

2) การหาอุปสงค์น้ำมันปาล์มใหม่ ๆ เช่น การใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน (biojet fuel) ซึ่งเคยมีการทดลองใช้ในประเทศโดยการบินไทยแล้วเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 แต่ไม่ได้มีการผลักดันเชิงพาณิชย์เนื่องจากต้นทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตยังสูงอยู่ในเวลานั้น แต่ปัจจุบันแนวโน้มด้านต้นทุนเทคโนโลยีที่ถูกลง พร้อมกับมูลค่าด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้เชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานมีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้