2,158 Views

ENTEC มุ่งมั่นในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานคุณภาพสูงไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม จึงดำเนินงานตามพันธกิจในการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) เป้าหมายที่ 7 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558–2579 ของประเทศไทย ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และแผนกลยุทธ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฉบับที่ 6 (ปีงบประมาณ 2560-2564)

แนวทางการทำงานของ ENTEC มุ่งเน้นการดำเนินงานตามกรอบแนวคิด 4 ด้าน ดังนี้

 
1. Excellence การดำเนินงานด้วยความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ
2. Relevance ความเชื่อมโยงและตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ประเทศและความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์
3. Impact การสร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความสามารถในการแข่งขันจากการดำเนินงานวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม
4. Visibility ความเชื่อมั่นและการยอมรับในคุณภาพและความเชี่ยวชาญในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก

แนวทางการดำเนินงาน

ENTEC ดำเนินการพัฒนากลไกการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยจัดทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยี  (Technology/Research S-curves) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารงานวิจัย การจัดสรรทรัพยากร  และการวางแผนการทำงาน 

ในระยะ 5 ปีแรก เอ็นเทคจะดำเนินงานตามกรอบการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน 5 ด้าน ดังนี้

 

1. พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)

พัฒนาและส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมกับการใช้งานในเขตร้อนไปใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ การจัดการวงจรชีวิตของระบบพลังงานหมุนเวียนตามแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ในช่วงแรกเอ็นเทคมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์พลังงานจาก 2 แหล่งหลัก ได้แก่ (1) พลังงานแสงอาทิตย์ : พัฒนาเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์สำหรับการใช้งานเฉพาะทางเพื่อสร้างนวัตกรรมและโอกาสการลงทุนในประเทศ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) แผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้งานแล้วเพื่อให้เกิดกลไกการจัดการแผงอย่างเป็นระบบ (2) พลังงานชีวมวล : พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการผลิตไบโอดีเซลจากผลิตผลทางทางการเกษตร ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในภาคขนส่งและเพิ่มสัดส่วนการใช้งานไบโอดีเซลในประเทศ นับเป็นการช่วยพยุงราคาผลผลิตทางการเกษตรและการบูรณาการการใช้งานพลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังดำเนินการผลิตไฮโดรเจนจากเอทานอลและก๊าซชีวภาพเพื่อรองรับยานพาหนะไฟฟ้าที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell electric vehicle) ในอนาคต

2. Plastics ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) 

ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานในประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (การขนส่ง) และสนับสนุนนโยบายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและโครงข่ายไฟฟ้า (แบบอยู่กับที่) เพื่อเพิ่มโอกาสแก่ผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่พลังงานสะอาดและสังคมปราศจากคาร์บอน โดยมุ่งเน้นดำเนินการวิจัยตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้จนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในภาคคอุตสาหกรรมร่วมกับพันธมิตรในหัวข้อต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยเน้นระบบและวัสดุกักเก็บพลังงานความหนาแน่นสูง 

3. พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (Conventional Energy)

ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อสานต่อและเพิ่มศักยภาพงานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อกำจัดสารมลพิษและปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันดีเซล เคมีสีเขียวเพื่อกำจัดสารอันตรายจากการผลิตแก๊สและน้ำมัน การพัฒนาสารดูดซับแบบคัดเลือกเพื่อกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในแก๊สธรรมชาติเหลว การปรับปรุงผลิตผลพลอยได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน รวมถึงการลดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากแหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

4. การจัดการระบบพลังงาน (System Integration and Energy Management)

มุ่งเน้นการออกแบบและจำลองระบบควบคุมและจัดการข้อมูลทางพลังงานเพื่อการจัดการพลังงานอย่างราบรื่นและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยดำเนินงานวิจัยในหัวข้อต่างๆ ดังนี้ การบูรณาการระบบพลังงานหมุนเวียน แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและการกักเก็บพลังงาน การออกแบบและจำลองระบบควบคุมและจัดหาข้อมูลพลังงาน รวมถึงการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลและรายละเอียดด้านพลังงานเพื่อการจัดการพลังงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผล

5. การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (ENERGY EFFICIENCY)

มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกภาคส่วน ดังนี้ การลดปริมาณการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Thailand National Determined Contribution, NDC) การดำเนินงานที่ผ่านมามุ่งเน้นสนับสนุนภาคการขนส่งและดำเนินโครงการประเมินผลประโยชน์ร่วมที่ได้รับจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมและผลงานวิจัยไปใช้งานจริง โดยดำเนินการร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศไทย และเครือข่ายวิจัยพัฒนาพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงชีวภาพระดับอาเซียน นอกจากนี้ยังได้ร่วมจัดตั้งกลุ่มไฮโดรเจนประเทศไทย เพื่อบูรณาการการนำทรัพยากรจากแหล่งต่างๆมาใช้เพื่อให้สามารถดำเนินงานสำเร็จตามเวลาและเป้าหมายที่กำหนดไว้