ที่มา
ในปัจจุบันเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านความมั่นคง มักประกอบด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงและอาศัยแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน หน่วยงานด้านความมั่นคงจำเป็นต้องจัดซื้อและนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวมาจากต่างประเทศในราคาสูง หากเครื่องมือและอุปกรณ์ชำรุดหรือแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ก็ย่อมจะส่งผลให้ไม่สามารถใช้งานอุปกรณ์ได้เต็มประสิทธิภาพ ความสามารถในการผลิตแพ็กแบตเตอรี่สำหรับการใช้งานภายในประเทศโดยเฉพาะสำหรับงานด้านความมั่นคงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ชุดแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่สำหรับการใช้งานด้านความมั่นคง เป็นผลงานจากการพัฒนาแพ็กแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและเครื่องชาร์จ โดยเป็นงานวิจัยร่วมระหว่างศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ศล.) ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) และศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) ด้วยทุนสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ปี 2558 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ปี 2560 และโครงการเร่งสนับสนุนเร่งการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Research Gap Fund, อว.) ปี2562 ปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ได้ยกระดับการผลิตและการใช้งานจากระดับภาคสนามไปเป็นการผลิตและใช้งานจริงในระดับภาคอุตสาหกรรม โดยได้ถ่ายทอดผลงานวิจัยให้แก่บริษัทออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด เรียบร้อยแล้ว
เป้าหมาย
เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตแพ็กแบตเตอรี่ที่ได้มาตรฐาน สำหรับการใช้ในงานด้านความมั่นคงในราคาที่ต่ำกว่าการสั่งซื้อจากต่างประเทศ สร้างความสามารถด้านการผลิตและการให้บริการด้านแพ็กแบตเตอรี่อย่างยั่งยืน สนับสนุนอุตสาหกรรมความมั่นคง และต่อยอดให้ภาคอุตสาหกรรมสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้ประเทศ โดยสร้างร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนเพื่อการผลิตและต่อยอด
ทีมวิจัยทำอย่างไร
ทีมวิจัยดำเนินการการวิจัยพัฒนาต้นแบบและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตต้นแบบแพ็กแบตเตอรี่ให้แก่บริษัทเอกชน โดยมีรายละเอียดการดำเนินการดังนี้
- เก็บข้อมูลการใชังานของผลิตภัณฑ์เดิมและความต้องการการใช้งานเพิ่มเติม จากการสัมภาษณ์ผู้ใช้ ณ สถานที่ใช้งานจริง
- ดำเนินการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทดสอบความเป็นไปได้ในการผลิต
- ผลิตต้นแบบทดสอบในห้องปฏิบัติการด้านประสิทธิภาพและความทนทาน
- ทดลองใช้ในภาคสนามเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี
- ดำเนินการทำ materials flow และกระบวนการผลิต เพื่อพร้อมถ่ายทอด
- ถ่ายทอดภาพรวมของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต เพื่อให้บริษัทเอกชนเข้าใจกระบวนการผลิตอย่างละเอียด
- ประเมินความพร้อมของบริษัทเอกชน พร้อมทั้งให้คำแนะนำในกระบวนการสั่งซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น รองรับการผลิตเพิ่มเติม
- อบรมพื้นฐานทางเทคนิค ขั้นตอนการผลิต การประกอบผลิตภัณฑ์ การใช้งานเครื่องจักรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถดำเนินการผลิตได้จริง และผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานภายใต้การควบคุมของทีมวิจัย
- ติดตามการทดสอบการใช้งานจริงในระดับภาคสนามที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตหรือแพ็กแบตเตอรี่สู่บริษัทเอกชน
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 บริษัทออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งได้รับการถ่ายทอดผลงานวิจัย ได้มีพิธีส่งมอบชุดแบตเตอรี่ที่ผลิตขึ้นโดยบริษัทฯ ให้แก่ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.1 พัน.31 รอ. ) เพื่อนำไปใช้งาน ในการนี้ได้มี พล.ต. สมบุญ เกตุอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (ผอ.สวพ.ทบ.) เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีส่งมอบ
ผลงานวิจัย
แพ็กแบตเตอรี่:
- มีประสิทธิภาพความจุสูงกว่าเดิม 3 เท่า
- สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องชาร์จ
- สามารถชาร์จได้เร็วในเวลา 3-4 ชั่วโมง
- มีความทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน และสามารถซ่อมบำรุงได้ง่าย
- ผ่านการทดสอบความปลอดภัยในระดับเซลล์ และระดับแพ็ก
- ลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ประหยัดงบประมาณ
- ยกระดับขีดความสามารถในการผลิตแพ็กแบตเตอรี่ในภาคอุตสาหกรรมไทยด้านความมั่นคงที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล
สถานภาพการวิจัย
- ผลงานแพ็กแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและเครื่องชาร์จ
- ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ฉบับเพิ่มเติมเดือนธันวาคม 2563
- บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด ได้รับการถ่ายทอดผลงานวิจัย และได้ส่งมอบผลงานให้กับลูกค้า
แผนงานวิจัยในอนาคต
ดำเนินการวิจัยและพัฒนาออกแบบแพ็กแบตเตอรี่และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องสำหรับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าและในอุตสาหกรรมอื่นๆ
ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ฉบับเพิ่มเติม เดือนธันวาคม 2563 โดยสำนักงบประมาณ ด้านครุภัณฑ์ยุทโธปกรณ์ความมั่นคง
รายชื่อทีมวิจัย
ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล, ดร. ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม, ดร.กิตติพงศ์ เกษมสุข, ดร.จิราวรรณ มงคลธนทรรศ, ดร.ธัญญา แพรวพิพัฒน์, ดร.มานพ มาสมทบ, นายวิเศษ ลายลักษณ์, ดร.ขวัญชัย ตันติวณิชพันธุ์ , ดร.ชยุตม์ ถานะภิรมย์, นายภัทรกร รัตนวรรณ์, นายณภัทร โคตะ, นางสาวเชีย เจียยี่, นายเมทนี กิจเจริญ และนายพีระพงษ์ ฟักเขียว
ติดต่อ
ปภาวี ลิขิตเดชาโรจน์ (นักวิเคราะห์)
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทรศัพท์ +66 2564 6500 ต่อ 4306
อีเมล papawee.lik@mtec.or.th