ที่มา
พื้นที่ชุมชนที่อยู่ห่างไกลและทุรกันดาร มักประสบปัญหาไฟฟ้า และสัญญาณโทรศัพท์ที่เข้าไปไม่ถึง อันเป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว จึงมีโครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบในพื้นที่ทรงงานตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการนี้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบันนับเป็นโครงการระยะที่ 3 โดยต่อยอดมาจาก “โครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษา และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริฯ” ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 (โครงการระยะที่ 1-2) โดยร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เป้าหมาย
เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบผสมผสานชนิดอิสระ (Stand-Alone หรือ Off Grid PV/Hybrid System) และระบบติดตามระยะไกลหรือโทรมาตร (Monitoring หรือ Telemetry) พร้อมระบบไอซีทีที่เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในพื้นที่ป่าเขาและพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและห่างไกลหรือพื้นที่ชายขอบของประเทศ ซึ่งไม่มีระบบจำหน่ายไฟฟ้าของภาครัฐ การต่อยอดการใช้ประโยชน์ในช่วงปี พ.ศ. 2559-2564 มีดังนี้
- การพัฒนาสมรรถะวิชาชีพครู ตชด. ด้านการประยุกต์ใช้ไอซีที
- การพัฒนาทักษะอาชีพ เรื่องการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing)ให้แก่นักเรียนในโรงเรียน
- การพัฒนาระบบบริการพบแพทย์ทางไกล (Telehealth) ให้แก่สุขศาลาพระราชทานและห้องพยาบาลของ รร.ตชด.
- การส่งเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเรื่อง “การผลิตชุดหลอดไฟส่องสว่าง LED แบบพึ่งพาตนเอง”
ทีมวิจัยทำอย่างไร
โครงการระยะที่ 1-2 (พ.ศ. 2551-2558) ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงเรียนและชุมชนที่อยู่ห่างไกลจำนวน 2 ระบบ ได้แก่ (1) ระบบขนาดเล็ก 480 วัตต์ (Wp) สามารถผลิตไฟฟ้าสูงสุด ประมาณ 1.5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน (kW-h/day) และ (2) ระบบแบตเตอรี่ที่สามารถสำรองไฟฟ้าไว้ใช้งานได้นาน 2 วัน โครงการระยะที่ 3 (พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน) ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานชนิดอิสระ (Stand-Alone หรือ Off Grid PV/Hybrid System) ให้สามารถผลิต พลังงานร่วมกับแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่นที่มีอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ พลังงานลม พลังงานน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมถึงการออกแบบและพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าฯ ให้มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นและมีความทนทาน นอกจากนี้ยังได้ออกแบบให้มีระบบ Monitoring เพื่อติดตามผลการผลิตไฟฟ้าและการทำงานของระบบ
ผลงานวิจัย
ระบบผลิตไฟฟ้าฯ สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่มีขนาดติดตั้งไม่น้อยกว่า 5,000 Wp ต่อแห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 8.5 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง/วัน มีระบบแบตเตอรี่ที่สามารถสำรองไฟฟ้าไว้ใช้งานได้ 2-3 วันในกรณีที่ฝนตกแสงแดดน้อย และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลเป็นแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
ผลิตไฟฟ้ามีรูปแบบดังนี้ การติดตั้งระบบทำได้ง่ายโดยการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบระบบหรืออุปกรณ์ที่ต่อพ่วงแบบถอดเร็ว สามารถติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ทั้งบนหลังคาอาคารและบนพื้นดิน ระบบมีความซับซ้อนต่ำโดยออกแบบให้สามารถใช้งานและดูแลรักษาได้ง่าย เน้นการบำรุงรักษาเชิงป้องกันมากกว่าการบำรุงรักษาเชิงแก้ไข ทนทานต่อสภาพแวดล้อม โดยการบรรจุอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนที่สำคัญให้อยู่ในตู้หรือกล่องที่มิดชิดเพื่อป้องกัน แมลง ฝุ่น ละอองน้ำ และเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ชนิดที่รองรับการใช้งานกลางแจ้งและมีมาตราฐาน IP Rating
สถานภาพการวิจัย
โครงการได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าฯ และถ่ายทอดการใช้ประโยชน์ให้แก่โรงเรียนและชุมชนในพื้นที่สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) 12 แห่ง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 8 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1 แห่ง ในปี พ.ศ. 2563 ได้ขยายผลใน รร.ตชด. เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง มีผู้ได้รับประโยชน์แล้วมากกว่า 13,000 ราย 1,000 ครัวเรือน ปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินการรวมจำนวนทั้งสิ้น 23 แห่ง
แผนงานวิจัยในอนาคต
ดำเนินการเก็บข้อมูลผลการทำงานของระบบผลิตไฟฟ้าฯ พร้อมศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในระยะยาว
การติดตั้งกังหันลม 1 kW ณ ศกร.ตชด.บ้านห้วยโป่งเลา จ.แม่ฮ่องสอน และติดตั้งกังหันน้ำ 1.6 kW
ณ ศกร.ตชด.บ้านคีรีล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์
รายชื่อทีมวิจัย
ดร.อัศวิน หงษ์สิงห์ทอง, ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์, ดร.อมรรัตน์ ลิ้มมณี, ดร.นพดล สิทธิพล, ดร.ทวีวัฒน์ กระจ่างสังข์, นายณัฐกานต์ อุดมเดชาณัติ, นายสุทธินันท์ เจริญเสถียรโชค, นายรังสรรค์ ปลื้มกมล และนางพัทธนันท์ เนาว์ในสิน
ติดต่อ
ปภาวี ลิขิตเดชาโรจน์ (นักวิเคราะห์)
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทรศัพท์ +66 2564 6500 ต่อ 4306
อีเมล papawee.lik@mtec.or.th