บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

1,758 Views

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีครบวงจร พร้อมด้วยสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งท่าเรือ คลังน้ำมัน และโรงไฟฟ้า แห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้อะเซทิลีนแบล็ก (acetylene black) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ IRPC ที่ได้จากกระบวนการผลิตปิโตรเคมี โดย IRPC มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรม จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อใช้เป็นวัสดุในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและซูเปอร์คาปาซิเตอร์ IRPC จึงได้ร่วมมือกับทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมร่วมกัน

คุณชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการวิจัยนี้ว่า “IRPC มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อะเซทิลีนแบล็กเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งของ IRPC ซึ่งมีความสำคัญทางเทคโนโลยี ทั้งยังจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะ (specialty product) ที่ IRPC พัฒนามาโดยตลอด รวมถึงการหาพันธมิตรมาช่วยต่อยอดการดำเนินธุรกิจ”

“เนื่องจากแบตเตอรี่เป็นแนวโน้มของโลก เราจึงพยายามวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการแปรสภาพอะเซทิลีนแบล็กให้มีคุณสมบัติตอบโจทย์ตามความต้องการของตลาด เช่น การสร้างห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ในรถไฟฟ้าซึ่งต้องการแบตเตอรี่ที่มีความสามารถในการกักเก็บพลังงาน (energy density) สูง และน่าจะเป็นจุดที่ดึงดูดการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังกับห่วงโซ่คุณค่าของรถสันดาปภายใน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ IRPC” 

ส่วนที่มาของการร่วมงานกับ ENTEC คุณชวลิตกล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า ENTEC มีบุคลากรที่มีความพร้อมและสามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐที่ต้องการให้นักวิจัยร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อนำงานวิจัยมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์หรืองานบริการต่างๆ ที่ใช้ได้จริงในภาคธุรกิจ และตรงกับความต้องการของภาคเอกชน นอกจากนี้ ENTEC ยังมีเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์และการสังเคราะห์ที่มีความซับซ้อนสูง เราจึงมีความมั่นใจในศักยภาพของ ENTEC” 

คุณชวลิตยังกล่าวชื่นชมว่า “ทีมวิจัยของ ENTEC มีความเชี่ยวชาญ การทำงานร่วมกันก็มีพัฒนาการมาโดยตลอดและได้เห็นความก้าวหน้าในเชิงธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ เช่น IRPC สามารถเข้าไปอยู่ในตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนได้แล้วแสดงว่าผลิตภัณฑ์อะเซทิลีนแบล็กมีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดย IRPC ได้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์นี้ว่า Pim-AL และ Pim-L เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุุล แสดงถึงการได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และความสัมพันธ์ของทั้งสององค์กรก็เป็นไปด้วยดี”

“ส่วนคุณภาพและประโยชน์ของผลงานวิจัยซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของเรานั้นก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายประมาณ 30-40% แล้ว และเรามีความฝันที่จะพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณสมบัติต่างๆ ที่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ หรือแม้กระทั่งเข้าตลาดแบตเตอรี่ของเทสลา (Tesla, Inc.) ได้”

ส่วนการขยับไปสู่เป้าหมายที่เหลืออีก 60% นั้น คุณชวลิตมีความเห็นว่า “การใช้อะเซทิลีนแบล็กเป็นวัสดุนำไฟฟ้าต้องใช้เทคนิคค่อนข้างสูง เราจึงสนใจพัฒนาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งไปที่การปรับโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดจากภาคการวิจัยไปสู่ภาคการผลิต ตอนนี้ทีมวิจัยของ IRPC อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างมาพัฒนาการผลิต ซึ่งจะเป็นก้าวใหญ่ที่สำคัญมาก”

คุณชวลิตยังให้ทิศทางยุทธศาสตร์แก่ทีมงานในแง่การต่อยอดและสร้างองค์ความรู้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีว่า “เราต้องการให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติหรือข้อกำหนดทางเทคนิคตรงตามความต้องการของตลาด และเข้าสู่ตลาดให้เร็วที่สุด รวมถึงมีความน่าเชื่อถือในเชิงคุณภาพที่สม่ำเสมอ ซึ่งทีมงานก็จะมารายงานเรื่องที่เราให้ความสำคัญว่ามีความก้าวหน้าอย่างไรเป็นระยะ”

คุณพยม บุญยัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ IRPC กล่าวถึงการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีว่า “การวางกรอบเวลาในเรื่อง ของการวิจัย เมื่อมีความก้าวหน้า ดร.พิมพา จะมาให้ความรู้โดยมีการประชุมร่วมกัน ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมด เราได้ส่งคนไปเรียนรู้ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ สวทช. ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้งานวิจัยของเราเป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากที่ได้ผลการวิจัยมา เราก็มั่นใจว่า IRPC สามารถเข้าสู่ธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนได้ งานวิจัยนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยสร้างความมั่นใจในการเข้าสู่ธุรกิจนี้ให้กับ IRPC”

คุณพยมกล่าวเสริมว่า “ในอดีตงานวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในประเทศไทยยังมีคนรู้ค่อนข้างน้อย ดร.พิมพา ก็เป็นผู้เร่งดำเนินการให้ทันตามความต้องการ และถ้าติดปัญหาก็จะรีบแก้ปัญหาให้ทันที อีกทั้งเครื่องมือของ สวทช. ถือว่าครบสมบูรณ์ที่สุดในประเทศทำให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ”

คุณอาคม ปาโส นักวิจัย ของ IRPC กล่าวถึงการทำงานร่วมกันว่า “ทีมวิจัย ENTEC มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสิ่งที่เราไม่รู้และชี้ให้เห็นประเด็นที่ส􀄞ำคัญในธุรกิจนี้ ซึ่งเราก็น􀄞ำความรู้ที่ได้มาต่อยอดให้เข้ากับสิ่งที่เรามี”

คุณณทรรศน์ จ้อยเจริญ ผู้จัดการหน่วยขายของ IRPC ให้ข้อมูลในมุมด้านการตลาดว่า “ผลิตภัณฑ์ของเรามี 2 เกรด คือ Pim-AL สำหรับแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด และ Pim-L สำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนซึ่งประสบความสำเร็จมาเป็นลำดับ ในขณะนี้ IRPC เริ่มขาย Pim-AL และมีการสั่งซื้อจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง 

ส่วน Pim-L มีการสั่งซื้อครั้งแรกและเริ่มมีการสั่งซื้อซ้ำแล้ว จึงเริ่มเห็นทิศทางว่าน่าจะประสบความสำเร็จในอนาคต นอกจากนี้ เนื่องจากตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเป็นตลาดพิเศษที่ ผู้ซื้อมีเทคโนโลยีการขายจึงไม่ใช่เพียงแค่นำคุณสมบัติหรือข้อกำหนดทางเทคนิคของผลิตภัณฑ์ไปแสดงเท่านั้น ผู้ขายจำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิคด้วย ซึ่ง ดร.พิมพาก็ได้ให้ความรู้แก่ทีมขายด้วยเช่นกัน” 

คุณชวลิตกล่าวทิ้งท้ายว่า“ในการนำงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เราจำเป็นต้องมีความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างความแตกต่าง และสามารถที่จะนำมาจดสิทธิบัตรได้ ซึ่ง IRPC มีความยินดีที่จะร่วมงานวิจัยและพัฒนากับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐบาลหรือเอกชน เพื่อไปสู่เป้าหมายแห่งความท้าทายยิ่งใหญ่ร่วมกัน ตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ IRPC ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว