ที่มา

ลักษณะทางกายภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เข้าถึงการใช้งานได้ยากและไม่เป็นที่แพร่หลายในครัวเรือน หรืออาคารขนาดเล็ก จากการที่ต้องใช้พื้นที่หลังคามากและจำเป็นต้องมีโครงสร้างที่รองรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีจำหน่ายทั่วไปมีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าต้องการพื้นที่หลังคากว้าง มีน้ำหนักมาก ไม่สามารถใช้กับหลังคาทรงโค้งได้ ซึ่งหากจะติดตั้งในลักษณะกันสาดก็ทำให้ดูไม่กลมกลืนและขาดความสวยงาม จากข้อจำกัดของโครงสร้างแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ในปัจจุบัน (Glass-Tedlar และ Glass-Glass) ที่กล่าวมา ทีมวิจัยจึงพัฒนาโครงสร้างแผงเชลล์แสงอาทิตย์แบบใหม่ที่มีน้ำหนักเบาโค้งงอได้ มีความแข็งแรง และติดตั้งง่ายโดยไม่ต้องปรับโครงสร้างเดิมที่มีอยู่เพื่อรองรับการติดตั้ง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการติดตั้ง และทำให้เข้าถึงการใช้งานในระดับครัวเรือนได้ง่ายขึ้น โดยสามารถติดตั้งเพื่อใช้งานในรูปแบบ Building integrated PV (BIPV) ได้ ก่อให้เกิดนวัตกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบใหม่ขึ้นภายในประเทศ

 

เป้าหมาย

แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีน้ำหนักต่อพื้นที่เบากว่าแผงโครงสร้างทั่วไป (Glass-Tedlar) มากกว่า 50% โดยสามารถนำต้นแบบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไปใช้งานในลักษณะที่สามารถโค้งงอได้ ติดตั้งง่าย สามารถเจาะแผงเพื่อยึดจับกับโครงสร้างผนังหรือหลังคาได้โดยตรง เช่น การติดตั้งบนแผ่นเมทัลชีทโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมเฉพาะทางที่มีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการติดตั้งของระบบลงได้

ทีมวิจัยทำอย่างไร

ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างและเทคนิคการลามิเนตแผงเซลล์แสงอาทิตย์

ผลงานวิจัย

ต้นแบบแผงเซลล์แสงอาทิตย์โครงสร้าง PET-ABS ที่มีน้ำหนักเบากว่าแผงเซลล์แสงอาทิตย์โครงสร้างทั่วไปมากกว่า 50% สามารถปรับให้โค้งงอ มีความแข็งแรงทนแรงกระแทกและสภาพอากาศ และประยุกต์ใช้งานในรูปแบบหลังคากันสาดได้

สถานภาพการวิจัย

ดำเนินการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาดังนี้
1. สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ “แผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะคริโลไนไตรล์-บิวทาไดอีน-สไตรีน” เลขที่คำขอ 1901006126 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562
2. อนุสิทธิบัตร “เทคนิคการเคลือบผิวหน้าของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยซิลิกา” เลขที่คำขอ 2003002411 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563

แผนงานวิจัยในอนาคต

อยู่ระหว่างดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เอกชนดำเนินโครงการร่วมกับเอกชน เพื่อทดสอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ตามมาตรฐาน IEC

รายชื่อทีมวิจัย

ดร.นพดล สิทธิพล, นายสุทธินันท์ เจริญเสถียรโชค, นายรังสรรค์ ปลื้มกมล, นายประทาน โคสุวรรณ, นายสายฝน โคตรโสภา, นายณัฐกานต์ อุดมเดชาณัติ, ดร.อัศวิน หงษ์สิงห์ทอง และดร.อมรรัตน์ ลิ้มมณี

ติดต่อ

ดร.นพดล สิทธิพล

ทีมวิจัยเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์
กลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน (Energy Innovation Research Group (EIRG))

โทรศัพท์ 0 2564 7056-8 ต่อ 2721

อีเมล nopphadol.sit@entec.or.th

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ