ที่มา

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อก่อให้เกิดปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากการควบคุมและป้องกันทำได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่ร้ายแรงสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบทางเดินหายใจและการสัมผัส การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ (disinfectant) ที่มีความเสถียรและประสิทธิภาพสูงเพื่อกำจัดเชื้อบริเวณพื้นผิวที่คนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ต้องสัมผัส รวมถึงบริเวณสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการช่วยระงับและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้อย่างทันท่วงที

เป้าหมาย

ผลิตชุดอุปกรณ์ที่ใช้ในการสังเคราะห์น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนเป็นส่วนประกอบ (สารละลายกรดไฮโปคลอรัส) มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัสไข้เลือดออก รวมถึงเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ โรงพยาบาล สถานพยาบาล พื้นที่ชุมชน อุตสาหกรรมอาหาร และฟาร์มปศุสัตว์  

การดำเนินงานวิจัย

1. ออกแบบและพัฒนาชุดควบคุมการไหลภายในชุดอุปกรณ์เครื่อง ENcase เพื่อลดปริมาณแก๊สสะสมหรือลดความต้านทานเฉพาะจุดระหว่างกระบวนการอิเล็กโทรไลซิส ทำให้สามารถลดการสิ้นเปลืองกำลังไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฮโปรคลอรัสให้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระบบผลิตสารละลายด้วยวิธีทางไฟฟ้าทั่วไปในปัจจุบัน
2. ออกแบบและพัฒนาระบบผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ที่ไม่มีความอ่อนไหวต่อชนิดของวัตถุดิบตั้งต้น เนื่องจากตัวเครื่อง ENcase สามารถรองรับการใช้เกลือแกงหรือเกลือสินเธาว์ที่มีลักษณะเป็นผงละเอียด ในขณะที่เทคโนโลยีปัจจุบันต้องเตรียมให้อยู่ในรูปสารละลายเกลือก่อนนำไปใช้งาน
3. ออกแบบและพัฒนาระบบปรับสภาพน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ ทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อ (ENERclean) ที่มีกรดไฮโปคลอรัส (HOCl) เป็นองค์ประกอบหลักในระดับหัวเชื้อ (คลอรีนเข้มข้นมากกว่า 400 ppm) และมีสมบัติที่เหมาะสมกับการนำไปใช้งานได้หลากหลาย ย (pH 4-6.5, ORP 900-1200 mV) โดยไม่ถูกจำกัดด้วยระดับความเป็นกรด-ด่าง (pH) ที่เป็นกรดแก่หรืออนุพันธ์คลอรีนในรูปไฮโปรคลอไรท์ (OCl-) ซึ่งเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ผลงานวิจัย

ENcase เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์

สถานภาพการวิจัย

– พร้อมใช้งาน/ถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว
– ส่งมอบ/ติดตั้งนวัตกรรม ENcase สำหรับการใช้งานจริงภายในโรงพยาบาล 10 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา, โรงพยาบาลศรีสะเกษ, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านผักขะ, โรงพยาบาลวารินชำราบ, โรงพยาบาลยางชุมน้อย, โรงพยาบาลส่งเสริมตำบลยางชุมใหญ่, โรงพยาบาลเมืองจันทร์, โรงพยาบาลส่งสเริมสุขภาพตำบลโนนคูณ, โรงพยาบาลพะโต๊ะ และโรงพยาบาลปากน้ำหลังสวน
– ส่งมอบน้ำยาฆ่าเชื้อ “ENERclean” ให้กับหน่วยงานราชการ และสถานศึกษา ไม่น้อยกว่า 1500 ลิตร

แผนงานวิจัยในอนาคต

พัฒนาเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ (ENcase) รวมถึงศึกษาตัวแปรที่มีผลต่อการขยายขนาดการผลิต คุณสมบัติและประสิทธิภาพน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยมีกำลังการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อไม่น้อยกว่า 50 ลิตรต่อชั่วโมง, ค่าปริมาณคลอรีน ( chlorine content) มากกว่า 300 ppm, ค่าความสามารถในการออกซิไดซ์หรือรีดิวซ์สารอื่น (ORP) มากกว่า 800 mV, ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) 4-6.5

รายชื่อทีมวิจัย

ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล, ดร.ชัยยุทธ แซ่กัง, ดร.วิศาล ลีลาวิวัฒน์, ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล, ดร.ศุภกิจ วรศิลป์ชัย, ดร.ฐนียา รอยตระกูล, ดร.สิทธิรักษ์ รอยตระกูล, นายมงคล คณานนท์, นายตันติวัฒน์ โกวิทกูลไกร, นางสาวกนกวรรณ ใหม่แก้ว และนางภัททิยา ลักษณะเจริญ

ติดต่อ

ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล
กลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Energy Research Group)
โทร 0 2564 6500 ต่อ 74700
อีเมล somsak.sup@entec.or.th

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ