ในปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมีการขยายการให้บริการและครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองและชานเมืองมากขึ้น อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้บริการในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังต้องการเชื่อมต่อการเดินทางสู่ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะหรือการเดินทาง First Mile / Last Mile เพื่อทดแทนการใช้ยานยนต์ส่วนบุคคลได้เต็มรูปแบบดังแสดงในรูปที่ 1 รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะจึงเข้ามามีบทบาทในกรณีนี้
รูปที่ 1 รูปแบบการบริการของรถจักรยานยนต์ First / Last Mile
อย่างไรก็ตามรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ หรือพี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในปัจจุบัน ยังใช้เครื่องยนต์เผาไหม้ที่ยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซไอเสียสู่บรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและวิกฤตภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศได้ อย่างไรก็ตาม รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดในเรื่องของการชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ต้องใช้ระยะเวลาในการชาร์จ ต้นทุนราคารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่รวมแบตเตอรี่ที่มีมูลค่าสูง และภาระค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่เมื่อหมดอายุหลังการใช้งาน ดังนั้นศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงต่อยอดการสนับสนุนการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ร่วมกับเครือข่ายงานวิจัยจากภาครัฐและเอกชนนำเสนอ แพล็ตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่เพื่อผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ ในวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการเปลี่ยนมูลค่าการถือครองแบตเตอรี่ในต้นทุนราคารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นการใช้บริการแพล็ตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ในต้นทุนค่าใช้จ่ายเทียบเท่ากับค่าน้ำมันสำหรับการใช้รถจักรยานยนต์เครื่องยนต์
จุดเด่นเทคโนโลยี / และการติดตามวัดผล
แพล็ตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบเตอรี่มีความเหมาะสมกับการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่องเพื่อการประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ในประเทศไทยได้มีการให้บริการสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่แสดงดังรูปที่ 2 ซึ่งในโครงการต่อยอดมีสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลกว่า 40 สถานี ดังแสดงในรูปที่ 3
(ก)
(ข)
รูปที่ 2 สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery swapping station) (ก) ริเริ่มโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(ข) ดำเนินการโดยธุรกิจสตาร์ทอัพ สวอพแอนด์โก
รูปที่ 3 แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่จำนวนกว่า 40 สถานี
ในส่วนของแพ็คแบตเตอรี่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในโครงการมีการออกแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานแพ็คแบตเตอรี่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของ ENTEC สวทช. ทั้งขนาดและน้ำหนักที่สามารถเคลื่อนย้ายและสับเปลี่ยนได้ง่าย สำหรับทุกคน ดังแสดงในรูปที่ 4
รูปที่ 4 รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในโครงการและแพ็คแบตเตอรี่ที่ใช้
ทั้งนี้โครงการได้คิดค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เฉพาะขึ้นเพื่อใช้ติดตามการใช้พลังงานของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าภายในโครงการ มีอุปกรณ์ที่จำเป็นได้แก่ อุปกรณ์ติดตามตำแหน่งตามระบบ Global positioning system (GPS) เซนเซอร์วัดแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ กระแสไฟฟ้าที่จ่ายกับมอเตอร์ไฟฟ้ากำลัง และเซนเซอร์ตรวจจับการเปิดคันเร่ง ดังแสดงในรูปที่ 5
รูปที่ 5 ชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Energy consumption tracking (ECT))
ผลการดำเนินโครงการ / ประโยชน์ที่ได้รับ
ภายหลังจาก ENTEC สวทช. ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ จากการติดตามการใช้งานจริง มีผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นแล้วในช่วงที่เก็บข้อมูล ได้แก่ การส่งมอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 50 คันให้กับผู้ขับขี่พี่วินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะในเขตพื้นที่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร มีผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 38.8 TonCO2,eq (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ในระยะการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง 50 คัน รวม 759,354 กิโลเมตร และในโครงการต่อเนื่องที่นำเสนอแพล็ตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ที่จำหน่ายให้กับผู้ขับขี่พี่วินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะให้มีการใช้งานในวงกว้างภายในเขตกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 30 คัน โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมาย เขตสามย่าน แหล่งรวมสถาบันศึกษาและศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร มีผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงที่เก็บข้อมูลทั้งสิ้น 4.3 TonCO2,eq ในระยะการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น 95,350 km
ยิ่งไปกว่านั้น การสนับสนุนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ ยังช่วยเชื่อมต่อการเดินทางสู่ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ส่งเสริมให้ผู้โดยสารเปลี่ยนการเดินทางจากการใช้ยานยนต์ส่วนบุคคล สู่ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าได้ เป็นการลดภาระค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาสำหรับผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ บรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศจากไอเสียของการเผาไหม้ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ผลักดันสู่สังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ผลลัพธ์ของโครงการยังสอดคล้องกับเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลยุทธหนึ่งของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม “MHESI for EV” และเป้าหมาย EV ระดับชาติ