วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ อาคาร MTEC อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการประชุมรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์มและนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน” โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมทุนในหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นองค์กรหลักในอุตสาหกรรมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า ได้แก่
1. บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด
4. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
5. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
6. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
7. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
8. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
โครงการวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเป็นโครงการนำร่องผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากที่พัฒนาจากน้ำมันปาล์มด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ และผลักดันให้เกิดการทดสอบการใช้งานภาคสนามในหม้อแปลงไฟฟ้าจริง โดยประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนในวงกว้าง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากปาล์มน้ำมันและร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน
น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้งานในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นน้ำมันแร่ (Mineral Oil) ที่ได้มาจากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เนื่องจากน้ำมันแร่มีความเสถียรภาพต่อออกซิเจนสูงและเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี จึงมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันแร่เป็นน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้ามีความเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดการลัดวงจรในหม้อแปลงไฟฟ้า อุณหภูมิในหม้อแปลงไฟฟ้าจะสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิสูงเกินกว่าจุดวาบไฟ (Flash Point) และจุดติดไฟ (Fire Point) ของน้ำมันแร่ จะส่งผลให้น้ำมันแร่เกิดการลุกติดไฟ และลามไปยังทรัพย์สิน บ้านเรือนที่อยู่โดยรอบ ก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินมูลค่ามิได้ในวงกว้าง และส่งผลถึงความไม่ไว้ใจของประชาชนที่อยู่โดยรอบหม้อแปลงไฟฟ้า ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวมาจากข้อด้อยหลักของน้ำมันแร่ คือจุดวาบไฟและจุดติดไฟที่น้อยกว่า 150 องศาเซลเซียส ทำให้ง่ายต่อการลุกติดไฟเป็นอย่างมาก รวมทั้งเมื่อเกิดการรั่วไหลสู่ภายนอก น้ำมันแร่จะปนเปื้อนในดินและน้ำ เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและย่อยสลายได้ยาก
จากปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยได้พัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม ที่เรียกว่า “EnPAT” ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นคือ จุดวาบไฟและจุดติดไฟมีค่าสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนจากการเกิดไฟไหม้ในหม้อแปลงไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นในด้านการย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ (Biodegradability) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เมื่อมีการรั่วไหลจะสามารถจัดการได้ง่ายกว่า ปลอดสารพิษ และไม่เป็นอันตรายทั้งในดินและในน้ำ อีกทั้งเมื่อหมดอายุการใช้งานในหม้อแปลงไฟฟ้าไม่ต้องจำกัดในสภาพของเสีย เนื่องจากสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลได้โดยไม่ต้องเสียค่ากำจัด เนื่องจากปริมาณของ EnPAT มากกกว่า 97% ผลิตมาจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งสอดรับกับนโยบายของไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608
การดำเนินงานระยะสุดท้ายของโครงการ (ปี พ.ศ. 2567) จะเป็นการทดสอบภาคสนามในสภาวะการใช้งานจริงของหม้อแปลงไฟฟ้าที่บรรจุน้ำมัน EnPAT โดยจะติดตั้งในพื้นที่ความรับผิดชอบของ กฟภ. และ กฟน. ในขั้นตอนนี้นอกจากจะเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่พัฒนาขึ้นในสภาวะการใช้งานจริงแล้ว ยังเป็นการนำร่องการใช้งานจริงของผลิตภัณฑ์ EnPAT เพื่อสร้างความรับรู้และความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนและผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์อีกด้วย ทั้งนี้ผลการทดสอบจะใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกในประเทศไทย