เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุม Auditorium ชั้น 6 อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
floor, Wattanawipas Building, Metropolitan Electricity Authority Headquarters, Bangkok
ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) โดย ดร.ธัญญา แพรวพิพัฒน์ และ ดร.จิราวรรณ มงคลธนทรรศ นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ร่วมสัมมนาเชิงวิชาการ “ระบบกักเก็บพลังงานในระบบไฟฟ้า: แนวโน้มเทคโนโลยี โอกาส และการใช้ประโยชน์ (Energy Storage in Power System: Technology Trend, Opportunities and Applications) จัดขึ้นโดยสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE Power & Energy Society (Thailand) ร่วมกับสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA)
ในงานสัมมนาเชิงวิชาการนี้ ดร.ธัญญา นักวิจัย ENTEC ได้บรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาในหัวข้อ “ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน” ในลำดับถัดมา ดร.จิราวรรณ บรรยายในหัวข้อ “ภาพรวมประโยชน์ การใช้งาน สถานการณ์ การใช้งานปัจจุบันของระบบกักเก็บพลังงานในระบบไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ” และได้ร่วมเสวนาเรื่อง “ตัวอย่าง กลไกสำคัญ ปัญหาและอุปสรรค โอกาสและการใช้ประโยชน์จากระบบกักเก็บพลังงานในระบบไฟฟ้า” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ จากมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนชั้นนำ
ในปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนและส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนในหลายรูปแบบ คาดว่าในอนาคต พลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล น้ำ และไฮโดรเจน จะมีส่วนในการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 50% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด โดยมีปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่มีเป้าหมายสำคัญตามมติการประชุม COP 28 คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เพื่อให้การใช้พลังงานหมุนเวียนมีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องมีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่หลากหลาย ช่วยลดความผันผวนและความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ ความเสถียร และความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าทั้งระบบจึงนับเป็นประเด็นสำคัญ