ENTEC ร่วมกับ MTEC และ NANOTEC ต้อนรับคณะผู้บริหารจาก Cross-ministerial Strategic Innovation Promotion Program (SIP), สถาบัน NIMS ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม M119 อาคารศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ร่วมด้วยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารจากโครงการ Cross-ministerial Strategic Innovation Promotion Program (SIP) แห่งสถาบันวัสดุศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น (National Institute for Materials Science: NIMS) นำโดย Dr. Masahiro TAKEMURA, Office Chief and Project Manager

ผู้บริหารจาก สวทช. นำโดย ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการ NANOTEC พร้อมด้วยคุณศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการ NANOTEC ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ รองผู้อำนวยการ MTEC และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ENTEC ได้นำเสนอภาพรวมการบริหารงานวิจัยของ สวทช. MTEC ENTEC และ NSTDA Start-up Ecosystem ตามลำดับ พร้อมทั้งรับฟังการนำเสนอโครงการ SIP ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบสตาร์ทอัพและการบ่มเพาะธุรกิจ พร้อมยกตัวอย่างความสำเร็จของบริษัทในโครงการ

ในโอกาสนี้ ดร.พิมพา ได้นำเสนองานวิจัยและนวัตกรรมด้านการกักเก็บพลังงานของ ENTEC ซึ่งได้รับความสนใจในการขยายความร่วมมือในอนาคต จากนั้น ดร.ณัฐนัย คุณานุสนธิ์ ดร.ชาคริต ศรีประจวบวงษ์ และ ดร. ธัญญา แพรวพิพัฒน์ นักวิจัยจากทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน กลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ได้นำคณะผู้บริหาร SIP, NIMS เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยด้านวัสดุสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและการประยุกต์ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

Cross-ministerial Strategic Innovation Promotion Program หรือโครงการ SIP เป็นโครงการส่งเสริมนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ข้ามกระทรวง ของ NIMS มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม โดยวิเคราะห์ความต้องการของสังคมและตลาดที่มีศักยภาพ ศึกษาแนวโน้มการวิจัยและพัฒนา รวมถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจ อันจะนำไปสู่การขยายผลความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาในสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับองค์กรวิจัยและระดับประเทศต่อไป ซึ่งมีกลไกคล้ายคลึงกับ NSTDA Start-up ของ สวทช.