วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข หัวหน้าทีมวิจัยเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ เป็นตัวแทนคณะวิจัย เข้ารับรางวัล “PMUC Country First Award ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ” ภายในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ โดย น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้มอบรางวัล จากผลงานวิจัย “EnPAT: น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัย จากปาล์มน้ำมันไทย” ทั้งนี้ รางวัล “PMUC Country First Award ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ” มอบให้สำหรับงานวิจัยที่ได้รับทุนจาก บพข. และเป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งมี impact ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. และดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการเอ็นเทค สวทช. พร้อมด้วย ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผอ.กลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ และคณะวิจัย ร่วมแสดงความยินดี
ผลงานวิจัย “EnPAT: น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัย จากปาล์มน้ำมันไทย” เป็นการนำน้ำมันปาล์มของไทยมาพัฒนาเป็น น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีจุดติดไฟสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส สามารถป้องกันเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ช่วยสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับประชาชน และมีความโดดเด่นในด้านการย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกทั้งเมื่อหมดอายุการใช้ในงานในหม้อแปลงไฟฟ้ายังสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลได้โดยไม่ต้องเสียค่ากำจัด สอดรับกับนโยบายของประเทศไทยใน การขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2065
ปัจจุบัน ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ “EnPAT” เครื่องแรก เพื่อนำร่องการใช้งานจริง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2567 ในพื้นที่ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบางแสน โดยหม้อแปลงที่ติดตั้งเป็นชนิด 3 เฟส 160 kVA 22 kV ผ่านการตรวจสอบสมรรถนะหม้อแปลงไฟฟ้าตามข้อกำหนดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผลการนำร่องใช้งานนี้จะถูกใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการจัดทำ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. ของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ และด้วยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะมีการดำเนินการขยายผลการใช้งานน้ำมัน “EnPAT” ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศในอนาคตอันใกล้ โดยมีเป้าหมายที่จะติดตั้งและใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าที่บรรจุน้ำมัน“EnPAT” เพิ่มเติม ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ