วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 ณ ลานกิจกรรม อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เอสทีแอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จํากัด (สตาเลียน) และ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จํากัด (Swap & Go) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุน SOLUTIONSPlus (https://solutionsplus.eu/) ผ่านหน่วยงาน Urban Electric Mobility Initiative (UEMI) จัดกิจกรรม Kick-off โครงการ Replication Battery-Swapping Electric Motorcycle Taxis in Samyan District of Bangkok รถจักรยานยนต์รับจ้างพลังงานไฟฟ้าสู่สังคมที่ยั่งยืน (Electric Mobility Two-Wheelers Toward Sustainable Society) สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไ์ฟฟ้า ส่งเสริมการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดมลภาวะทางเสียง ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง
นางสาวสุุมิตรา จรสโรจน์กุุลผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) กล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤตมลภาวะทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และวิกฤตความแปรปรวนของภูมิอากาศจากปัญหาโลกร้อน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุน SOLUTIONSPlus (https://solutionsplus.eu/) ผ่านหน่วยงาน Urban Electric Mobility Initiative (UEMI) ในความร่วมมือกับ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เอสทีแอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (สตาเลียน) และบริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ได้ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสู่กลุ่มผู้ขับขี่วินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะในเขตพื้นที่สามย่าน หนึ่งในพื้นที่การจราจรคับคั่งของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการปรับเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลสู่การใช้ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า
รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นอกจากปัจจัยทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม การจะผลักดันให้ผู้ขับขี่วินรถจักรยานยนต์รับจ้างหันมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงสถานะทางการเงินของผู้ขับขี่วินรถจักรยานยนต์รับจ้างด้วย โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีค่าครองชีพสูงจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เข้ากับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรวมทั้งตัวรถจักรยานยนต์ที่เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพที่อาจกระทบกับเสถียรภาพทางการเงิน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่โครงการนี้จะได้ทำการศึกษาทางออกในการลดมูลค่าการถือครองรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายทางด้านเชื้อเพลิง ที่จะสามารถทำลายอุปสรรคทางการเงินและอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนไปใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างราบรื่น เป็นการผลักดันเพื่อหวังผลการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับความเป็นจริงทางเศรษฐศาสตร์ของผู้ขับขี่วินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ
คุณอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวเสริมว่า ปัจจัยที่จะผลักดันให้พี่วิน หันมาใช้รถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนรถจักรยานยนต์น้ำมันทั่วไป มีมากกว่าการสนับสนุนด้านราคาและไฟแนนซ์ พบว่าพี่วินยังมีความกังวลด้านค่าใช้จ่าย สมรรถนะของตัวรถ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จึงมีจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทั้งระบบนิเวศน์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ เรื่องมาตรฐานแบตเตอรี่ที่ควรมีมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ ความแพร่หลายและจำนวนสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ บริษัทไฟแนนซ์ ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานของรถที่จะนำมาใช้รับส่งผู้โดยสาร ทั้งนี้สำหรับพี่วินปัญหาสภาพเศรษฐกิจในเขตเมืองเป็นประเด็นสำคัญเฉพาะหน้า พี่วินส่วนใหญ่จึงคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพเป็นประเด็นสำคัญมากกว่ากว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในโครงการนี้เราจะได้ศึกษาแง่มุมเชิงสังคมควบคู่ไปกับเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาข้อเสนอที่เหมาะสมที่สุดในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ให้พี่วินที่มีอยู่ใน กทม. และ ปริมณฑล กว่า 80,000 คัน พิจารณาเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
คุณอารีรัตน์ ศรีประทายประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท เดอะ สตาเลียน จำกัด (ผู้แทนในนาม บริษัท เอสทีแอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด) กล่าวว่า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยียานยนต์สะอาดที่ปล่อยมลพิษที่ปลายท่อเป็นศูนย์ สามารถแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศและวิกฤตภาวะโลกร้อนได้ แต่ด้วยมูลค่าชิ้นส่วนสำคัญโดยเฉพาะชิ้นส่วนแบตเตอรี่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้มูลค่าการถือครองอยู่ในระดับที่สูงกว่ารถจักรยานยนต์น้ำมันทั่วไป ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่โครงการได้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมการสนับสนุนของรัฐบาล บริษัทจึงขอมีส่วนร่วมด้วยการนำเสนอรุ่นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้ผ่านการทดสอบในโครงการก่อนหน้าร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ TAILG ซึ่งเป็นแบรนด์อันดับ 3 ของประเทศจีนรวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมทั้งโปรแกรมการให้บริการชิ้นส่วนและการบำรุงรักษาหลังการขายเพื่อให้แน่ใจว่าการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะประสบความสำเร็จได้ตลอดโครงการ
คุณอาวีมาศ สิริแสงทักษิณกรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด กล่าวว่า Swap & Go เป็นแพลตฟอร์มผู้ให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เน้นการสร้างเครือข่ายเพื่อเติมเต็ม EV Ecosystem หรือเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้สะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนี้ได้พัฒนาแบตเตอรี่ให้สามารถใช้ได้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าหลากหลายแบรนด์ หรือ Universal Swapping ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตไทย โดยในโครงการนี้ Swap & Go นำเสนอแพคเกจการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในราคาพิเศษ โดยพี่วินผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะสามารถสลับแบตเตอรี่ได้ที่สถานีสลับแบตเตอรี่ที่กระจายครอบคลุมในพื้นที่เป้าหมายของโครงการในปัจจุบัน และอยู่ระหว่างการขยายสถานีให้บริการเพิ่มเติมเพื่อให้พี่วินเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สามารถให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารได้ไกลออกไปมากขึ้นอย่างไร้รอยต่อในอนาคต
Ms. Yeonju Jeongผู้แทนกองทุน SOLUTIONSPlus กล่าวว่า โครงการนี้ได้ตั้งเป้าสนับสนุนราคารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมจากการสนับสนุนของภาครัฐ มีเป้าหมายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างจำนวน 30 คัน จะเป็นการนำร่องใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในใจกลางย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ซึ่งตรงกับเป้าหมายของหน่วยงาน Urban Electric Mobility Initiative (UEMI) ที่ต้องการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีมลพิษทางอากาศหนาแน่น รวมทั้งมลภาวะทางเสียงจากเครื่องยนต์ ส่งเสริมให้คนเมืองหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ด้วยตัวเลือกการเดินทาง First mile และ Last mile เพื่อให้พลเมืองมีระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้น พร้อมทั้งลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ และมลภาวะทางเสียง