วันที่ 29 สิงหาคม 2565 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) จัดประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการศึกษาการใช้ไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กมาตรฐานไอเสีย EURO5 พร้อม Kick-off นำร่องสาธิตการทดสอบใช้ในรถยนต์ภาคสนาม ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน
ดร. สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) กล่าวว่า ปัญหาสารมลพิษในอากาศเป็นปัญหาสำคัญทั้งสำหรับประเทศไทยและของโลก โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่พบว่ามีปริมาณในอากาศสูงเกินกว่าระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งพืชและสัตว์ที่เป็นแหล่งทรัพยากรอาหารของมนุษย์ ซึ่งในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มีมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง โดยการยกระดับมาตรฐานการระบายมลพิษจากยานยนต์ใหม่ EURO5 ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ในกลุ่มรถบรรทุกรวมทั้งรถกระบะ จึงนำมาสู่การประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันดีเซล พ.ศ. 2563 ของกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันดีเซลที่เหมาะสมกับยานยนต์มาตรฐานการระบายมลพิษ EURO5 ซึ่งประกอบด้วยการปรับลดปริมาณกำมะถัน (Sulfur) และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Poly-aromatic hydrocarbon, PAH) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ให้มีการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน EURO5 ภายในปี 2567 ทั้งนี้เพื่อลดการปล่อยฝุ่นละอองจากรถยนต์ดีเซลที่เป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง
กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งขาติ (ENTEC) ดำเนิน “โครงการศึกษาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กมาตรฐานไอเสีย EURO5” เพื่อนำร่องสาธิตการใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กมาตรฐานไอเสีย EURO5 ในสัดส่วนการผสม ร้อยละ 7 10 และ 20 ด้วยการใช้งานจริงบนท้องถนนเป็นระยะทางรวมตลอดโครงการ 90,000 กิโลเมตร โดยจะมีการเก็บข้อมูลด้วยกระบวนการตามหลักวิชาการ ตลอดจนตรวจวิเคราะห์ผลกระทบในการใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กมาตรฐานไอเสีย EURO5 การวิเคราะห์การเสื่อมสภาพของเครื่องยนต์ผ่านการทดสอบสมรรถนะและการวัดการปล่อยสารมลพิษ การวิเคราะห์การเสื่อมสภาพของน้ำมันดีเซลทั้งในสถานีเก็บรักษา และในถังน้ำมันของรถยนต์ การเสื่อมสภาพของน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งกระบวนการทดสอบและวิเคราะห์ผลการศึกษาจะเสร็จสิ้นหลังจากการ Kick-off นำร่องการสาธิตฯ นี้เป็นระยะเวลารวม 10 เดือน เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาเพื่อให้ผลของโครงการได้ถูกนำไปใช้ในวงกว้างต่อไป
คุณอนิรุทธิ์ ธนกรมนตรี รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ) กล่าวว่า ที่ผ่านมา
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ให้การสนับสนุนไบโอดีเซลที่เป็นผลิตผลจากภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการผลักดันให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน และมีน้ำมันดีเซล B20 เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือก รวมทั้งโครงการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น ที่ พพ. ได้มอบหมายให้ สวทช. โดย ENTEC เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงาน แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตรถยนต์ยังมีความกังวลในการใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กมาตรฐานไอเสีย EURO5 ที่กำลังจะประกาศบังคับใช้ในปี 2567 นี้ และวันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้มีการทดสอบในรถยนต์ ภายใต้ “โครงการศึกษาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กมาตรฐานไอเสีย EURO5” ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็นข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชิ้นส่วนรถยนต์รวมทั้งแนวทางการขับเคลื่อน และผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีลดการปล่อยสารมลพิษในยานยนต์ ลดอุปสรรคในการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองควบคู่ไปกับการใช้น้ำมันดีเซล EURO5 ที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคการขนส่งอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตภาวะโลกร้อน ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยียานยนต์มลพิษต่ำอย่างยั่งยืนในอนาคต
พร้อมกันนี้ คุณอนิรุทธิ์ ธนกรมนตรี รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ) ได้เป็นประธานในการจัดประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการศึกษาการใช้ไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กมาตรฐานไอเสีย EURO5 ซึ่งมีคณะกรรมการประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ โรงกลั่นน้ำมัน ผู้ผลิตไบโอดีเซล ผู้ค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกลั่นกรองและยอมรับในการนำร่องการสาธิตการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก รวมทั้งแนวทางการศึกษาให้เป็นไปตามหลักวิชาการ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างราบรื่นบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป