ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. ต้อนรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่นและคณะผู้ติดตาม ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมอาคารประเมินประสิทธิภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร (Building-Integrated Photovoltaic: BIPV)

วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ (TSP-CC) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. และทีมนักวิจัย BIPV ให้การต้อนรับให้การต้อนรับนายคุนิสะดะ อิซาโตะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น และคณะผู้ติดตามจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย บริษัท คาเนกะ คอร์ปอเรชั่น (KANEKA Corporation) และ บริษัทไทยเซอิ คอร์ปอเรชั่น ((TAISEI Corporation) ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมอาคารประเมินประสิทธิภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร (Building-Integrated Photovoltaic: BIPV) ที่ติดตั้งใช้งานเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยเอ็นเทคและเนคเทค สวทช. ร่วมกับบริษัท คาเนกะ คอร์ปอเรชั่น บริษัท ไทยเซอิ คอร์ปอเรชั่น และได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น

ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ น.สพ.สนัด วงศ์ทวีทอง รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้ร่วมให้การต้อนรับ โดยนายคุนิสะดะ อิซาโตะ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ “อาคารประเมินประสิทธิภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร (Building-Integrated Photovoltaic: BIPV) และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสนับสนุนการใช้ BIPV ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากเป็นการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ลำดับต่อมา ดร.อากิฮิโกะ นาคาจิม่า จากบริษัท คาเนกะ คอร์ปอเรชั่น นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ ในโอกาสนี้ น.สพ.สนัดได้แนะนำ สวทช. พร้อมทั้งภาพรวมความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับประเทศญี่ปุ่น ทั้งในด้านการวิจัย การพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนาธุรกิจ

จากนั้นคณะได้เข้าเยี่ยมชมอาคาร BIPV ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประเมินผลการผลิตไฟฟ้าของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งในรูปแบบร่วมกับอาคารสิ่งปลูกสร้าง (BIPV) โครงการนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา โดยผสมผสานเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์เข้ากับงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม เช่น ผนังบ้านและผนังอาคาร ดังนั้นการศึกษาและเปรียบเทียบผลการผลิตไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีความแตกต่างทางเทคโนโลยี ซึ่งติดตั้งในรูปแบบ BIPV นี้ จึงนับเป็นการพัฒนาอีกขั้นของเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการออกแบบระบบ BIPV สำหรับประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ มีทีมวิจัย BIPV ประกอบด้วย ดร.กอบศักดิ์ ศรีประภา นักวิจัย เนคเทค ดร.พีระวุฒิ ชินวรรังสี นักวิจัย เอ็นเทค และคุณศศิวิมล ทรงไตร ร่วมให้การต้อนรับ

Print Friendly, PDF & Email