วันที่ 9 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ
ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการ พร้อมด้วย ดร.ทวีวัฒน์ กระจ่างสังข์ และทีมวิจัยเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ (SPVT) กลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย “SEESOLAR” แผงโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร ในงาน Banpu ESG Summit ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
ในงานนี้ ดร.ทวีวัฒน์ กระจ่างสังข์ นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ ENTEC เปิดเผยว่า SEESOLAR เป็นนวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตรรูปแบบใหม่ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้วยการออกแบบให้แสงส่องผ่านได้ในปริมาณที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช พร้อมด้วยชั้นฟิล์มพิเศษที่สามารถมีคุณสมบัติกึ่งโปร่งใส สามารถกรองให้รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ส่องผ่านได้เพียงร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับแผงโซลาร์เซลล์กึ่งส่องผ่านแสงทั่วไปที่มีค่าการผ่านแสงรังสีอัลตราไวโอเลตถึงร้อยละ 45.5 นอกจากนี้ ฟิล์มยังมีสมบัติการกระจายแสงที่ดี และสามารถสะท้อนรังสีอินฟราเรดได้ร้อยละ 12 เปรียบเทียบกับแผงกึ่งส่องผ่านแสงทั่วไปที่สะท้อนได้เพียงร้อยละ 6 จึงช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนเกษตรหรือในอาคารได้ อีกทั้งยังออกแบบให้แสงในช่วง Photosynthetically Active Radiation (PAR) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชส่องผ่านได้สูง ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ
SEESOLAR ยังช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าและทำการเกษตรไปพร้อมกัน โดยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้กับระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือน เช่น ระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น และด้วยการออกแบบที่แข็งแรงและน้ำหนักใกล้เคียงกับแผงมาตรฐาน SEESOLAR จึงเหมาะสำหรับการติดตั้งในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเป็นหลังคาโรงเรือนสำหรับแปลงปลูกพืชขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ฟาร์มปศุสัตว์ ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการติดตั้งเป็นหลังคาโรงรถหรือกันสาดสำหรับอาคารบ้านเรือน นับเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน