เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุม MR 111 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ร่วมจัดงานเปิดตัว “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” ในงาน International Energy Storage Forum 2024 - TESTA Annual Symposium ครั้งที่ 4 โดยมี นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย
โดยภาคีเครือข่ายนี้มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ โดยจะดำเนินการผ่านการพัฒนามาตรฐานกลาง ในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล
ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานภาคีเครือข่ายฯ และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งภาคี ซึ่งเริ่มจากความต้องการลดข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านมอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์สันดาปเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่าง สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวง อว. และหน่วยงานภาคเอกชน 9 หน่วยงาน ดำเนินโครงการวิจัย “โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย” ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน บพข. ปี 2564 โดยหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญคือข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานสำหรับแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า พร้อมต้นแบบทดสอบ ซึ่งนำไปสู่การขยายผลในการก่อตั้งภาคีเครือข่ายฯ ในนาม “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน และขยายผลให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตและให้บริการยานยนต์สมัยใหม่ที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ ภายในงานมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "Global Innovations and Policy in End-of-life Battery Management" โดย Prof. Yan Wang และมีการจัดเสวนาในหัวข้อ "แนวทางการจัดการแบตเตอรี่หลังสิ้นอายุขัยที่เหมาะสมกับประเทศไทย" ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น องค์ความรู้ ตลอดจนนำเสนอนโยบายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน โดยมี ดร.ณัฐนัย คุณานุสนธิ์ นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สวทช. เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
อีกทั้งยังมีกิจกรรมการบรรยายเกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยี มาตรฐาน ความปลอดภัย และการจัดการแบตเตอรี่ โดยวิทยากรรับเชิญจากนานาประเทศ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับความรู้และมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต