เมื่อวันที่ 10-28 มิถุนายน 2567 ณ ห้องโลตัส ชั้น 10 โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต จ.ปทุมธานี
ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สวทช. นำโดย ดร. นุวงศ์ ชลคุป ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ในหัวข้อ “Renewable Energy Technologies and Knowledge Transfer for Strengthening and achieving ASEAN's Sustainable Development Goals” ภายใต้โครงการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่ประเทศที่สาม (The Third Country Training Programme (TCTP)) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง ในการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้มีผู้แทนจากหลายประเทศในอาเซียนเข้าร่วม ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย โครงการนี้เป็นโครงการระยะเวลา 3 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA)
โดยในงานนี้ ดร. นุวงศ์ ชลคุป ดร. Yuji Yoshimura ดร. พีรวัฒน์ สายสิริรัตน์ ดร. กัมปนาท ซิลวา และทีมวิจัยพลังงานทดแทนและประสิทธิภาพพลังงาน ได้ร่วมบรรยายและนำผู้แทนเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของ ENTEC โดย
- ดร. นุวงศ์ได้นำเสนอเรื่อง "การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า" (Achieving SDG through Electric Vehicle (EV) Technology) โดยกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นทางเลือกสำหรับการขนส่งทางถนน
- ดร.กัมปนาท นักวิจัยเอ็นเทค ได้นำเสนอหัวข้อ “Sustaining SDG through Energy Resilience.”
ดร. Yoshimura ได้นำเสนอภาพรวมในหัวข้อ “Biodiesel Pilot Plant and Upgrading Unit” ซึ่งรวมถึงการเยี่ยมชมหน่วยสาธิตการผลิตไบโอดีเซลที่ วว.
ดร.พีรวัฒน์ นักวิจัยเอ็นเทค บรรยายเรื่อง “ภาพรวมของมาตรฐานไบโอดีเซล – การใช้งานและการทดสอบไบโอดีเซลในเครื่องยนต์” (Overview of Biodiesel Standard – Utilization and Biodiesel Engine Test)พร้อมทั้งทีมงานวิจัยได้นำชมห้องปฏิบัติการ Biodiesel Engine Test laboratory ที่ ENTEC โดยในการเยี่ยมชมนี้ผู้เข้าอบรมได้ร่วมปฏิบัติการทดสอบการใช้ไบโอดีเซล B100 ในเครื่องยนต์ด้วย
งานอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการถ่ายทอดความรู้และการให้แนวทางปฏิบัติสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการนี้ยังมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านพลังงานสะอาด (SDG 7) เพื่อการรับรองการเข้าถึงพลังงานที่ราคาไม่แพง เชื่อถือได้ ยั่งยืน และทันสมัยสำหรับทุกคน