เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ณ ห้องประชุม Crystal Hall ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก
ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงาน (ENTEC) สวทช. รับเชิญเข้าร่วมเสวนาในงาน “Japan Thailand Public-Private Automotive Business Forum for Energy and Industry Dialogue” ซึ่งจัดโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) กระทรวงการต่างประเทศ (MFA) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ องค์กร The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnership (AOTS)
ในโอกาสนี้ ดร.สุมิตราได้รับเกียรติร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาหัวข้อ “Next-Generation Vehicles: Potential of Hydrogen, E-Fuel, and Biofuel” พร้อมด้วย Mr. MAEDA ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด Mr. ITO Operating Executive บริษัทฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด คุณพงษ์ศักดิ์ เหลืองจินดารัตน์ รองผู้อำนวยการ Climate Technology บริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) และคุณวัชรินทร์ บุญฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โดยมี Dr. KONO จากมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นผู้ดำเนินรายการ
งานนี้เป็นเวทีสำคัญที่รวมผู้นำด้านพลังงานและอุตสาหกรรมของไทย-ญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy and Industry Dialogue: EID) ซึ่งครอบคลุมประเด็นการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์ การประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสให้ภาครัฐและเอกชนของทั้งไทยและญี่ปุ่นได้แลกเปลี่ยนกลยุทธ์และนโยบายด้านยานยนต์ เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
โดยในช่วงของการเสวนา ดร.สุมิตราได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพในอนาคต ทั้งเชื้อเพลิงชีวภาพจากวัตถุดิบในประเทศ เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล และ ไบโอดีเซลพรีเมี่ยม (H-FAME) ที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ที่มีการปลดปล่อยมลพิษน้อยกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียม เทียบเท่ายานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาดจากไฮโดรเจนสีเขียวที่มีการปลดปล่อยมลพิษน้อยที่สุด โดยผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม


