วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2566 นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ร่วมจัดแสดงผลงานในงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม (TRIUP FAIR 2023) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดระบบการนำผลงานวิจัยและและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์สามารถเข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรม และเจ้าของผลงานวิจัยได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อน พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564
ภายในงานมีส่วนจัดแสดง INNOVATION SHOWCASE โดยนักวิจัยจากทีมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ ได้จัดแสดงผลงานในนิทรรศการ “Net Zero Emission” ในกลุ่มของผลงานวิจัยด้านพลังงาน จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่
- แผงโซลาร์ป้องกัน UV สะท้อน IR เพื่อการเกษตร คิดค้นและพัฒนาโดย ดร.ทวีวัฒน์ กระจ่างสังข์
และคณะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในภาคการเกษตร และลดต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้นตัวแผงจึงออกแบบให้มีความโปร่งแสงและมีน้ำหนักเบา เพื่อให้เหมาะแก่การทำเป็นหลังคาโรงเรือน ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยแทนการใช้แผงโซลาร์ทั่วไปที่จะต้องติดตั้งบนพื้นดิน เนื่องจากแผงโซลาร์ทั่วไปมีน้ำหนักมาก การติดตั้งต้องมีโครงสร้างรองรับ และมีความทึบแสง นอกจากนี้แล้วทีมวิจัยยังออกแบบให้แผงป้องกันรังสี UV และสะท้อนรังสีอินฟราเรด (IR) ทำให้อุณหภูมิใต้แผงไม่สูง และพืชที่ไม่ชอบอากาศร้อนจัดเติบโตได้ดี
- กันสาดโซลาร์-SunGuard PV คิดค้นและพัฒนาโดย ว่าที่ร้อยตรี ดร.นพดล สิทธิพล และคณะ โดยมีแนวคิดมาจากข้อจำกัดแผงโซลาร์ทั่วไปมีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีน้ำหนักมาก การติดตั้งต้องมีโครงสร้างรองรับ และพื้นที่รองรับแผง ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเข้าถึงของคนที่อยากติดตั้งไว้ใช้ ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวนักวิจัยจึงได้พัฒนาหลังคากันสาดโซลาร์ขึ้น โดยเป็นหลังคาทรงโค้งที่นิยมทำเป็นหลังคากันสาดที่ช่วยบังแดดบังฝน และสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ในกิจกรรมต่างๆได้ พร้อมกับการติดตั้งใช้งานที่ง่ายไม่ต้องเพิ่มเติมโครงสร้าง นอกจากนี้แล้วกันสาดโซลาร์ยังสามารถเปลี่ยนสีได้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งาน ซึ่งเหมาะสมกับการติดตั้งกับตัวบ้านหรืออาคารที่จำกัด รวมไปถึงการติดตั้งกับร้านอาหารเครื่องดื่มที่เป็นบูธ (Stand Café) และรถขายอาหาร (Food Truck) โดยสำหรับการจัดแสดงงานครั้งนี้ได้นำมีการนำกันสาดโซลาร์มาจัดแสดงทั้งแบบโค้ง และแบบตรง เพื่อให้เห็นรูปแบบการนำไปประยุกต์ใช้ได้มากขึ้น
ในส่วนของนักวิจัยจาก NECTEC ดร.โอภาส ตรีทวีศักดิ์ ได้จัดแสดงผลงาน “WiMaRC นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยุคใหม่” ในนิทรรศการ “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมูลค่าสูง” โดยผลงาน WiMaRC เป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยี IoT Cloud Platform และบอร์ดสมองกล มาช่วยเกษตรกรติดตามและควบคุมสภาวะในการทำเกษตรกรรมแบบทันที (Real-time system) ผ่านเว็บแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งก็จะทำให้เกษตรกรบริหารจัดการภายในได้อย่างเป็นระบบ และส่งผลให้ผลผลิตดีขึ้น รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานลดลง